วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ฟ้อนแขบลาน นาฏศิลป์พื้นบ้านของคนไทลาว

             วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เกิดจากการสร้างสรรค์  สั่งสม  และสืบทอดมาเป็นเวลายาวนาน ศิลปวัฒนธรรมไทยนั้นถือได้ว่าเป็นมรดกอันทรงคุณค่าของชาติ  เป็นเอกลักษณ์สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นชาติไทยที่น่าภาคภูมิใจยิ่ง  เพราะการที่เรามีศิลปวัฒนธรรมเป็นแบบฉบับของตนเองมาเป็นเวลายาวนาน ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า  ชาติไทยของเรามีความเจริญและมีอารยธรรมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชาติใดๆ ในโลก  ดังนั้นการดำรงรักษาไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของไทยจึงเป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่งดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  รัชกาลปัจจุบัน  ที่ว่า  การรักษาวัฒนธรรมคือการรักษาชาติ

             ในบรรดาศิลปวัฒนธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ของชาติ  และเป็นสิ่งที่สามารถบ่งชี้ความเป็นมาของประวัติศาสตร์ได้อย่างดียิ่งนั้น  นาฎศิลป์”  นับว่าเป็นศิลปะที่โดดเด่นที่สุด  สามารถแสดงออกได้โดยตนเองทั้งในลักษณะที่เข้มแข็งและอ่อนโยน  นาฎศิลป์ถือว่าเป็นภาษาสากลเช่นเดียวกับดนตรี  แต่ดีตรงที่ได้เห็นด้วยตาซึ่งทำความเข้าใจได้ทันที  อีกทั้งมีความแนบเนียนกว่าภาษาทั่วไปตรงที่มีความละมุนละไมกว่า  (เรณู  โกศินานนท์, 2527, หน้า 2)  นอกจากนี้นาฎศิลป์ไทยถือเป็นศาสตร์ทางศิลปะที่สำคัญยิ่ง  เป็นที่รู้จักกันดีในรูปแบบของการแสดงที่มีลีลาอ่อนช้อยงดงาม  บ่งบอกถึงความประณีตรักสวยรักงาม  แฝงด้วยจินตนาการและศิลปะอันละเอียดอ่อนของคนไทย  แสดงถึงความเป็นอารยธรรมที่รุ่งเรืองและความมั่นคงของชาติที่ได้สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาล  (วรสรวง  สุทธิสวรรค์, 2541, หน้า 1)
   ความหมายของคำว่า ฟ้อน 
            “ฟ้อน  คือ  ระบำที่มีศิลปะ  มักใช้คู่กับการรำอันเป็นศิลปะแห่งการรำเดี่ยว  รำคู่  รำประกอบเพลง    ถ้าผู้แสดงรำฟ้อนกันเป็นหมู่ เรียกว่า  ระบำ   หรือมักจะเรียกรวมกันว่า  ระบำรำฟ้อน  ทั้งฟ้อนและรำ  มุ่งให้เกิดความเพลินตาเพลินใจ  ในลีลาที่อ่อนโยนงดงามเข้ากับจังหวะกลมกลืนกับเสียงดนตรีและการขับร้องอันไพเราะ  รวมทั้งเครื่องแต่งกายสวยสดของผู้แสดง  มิได้มีเนื้อหาเป็นเรื่องเป็นรา
   แหล่งกำเนิดฟ้อนแขบลาน

   ฟ้อนแขบลาน  หรือฟ้อนแถบลาน  คือ  การฟ้อนรำที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน โดยชาวบ้านเผ่าไทลาวในเขตอำเภอหล่มสัก  จังหวัดเพชรบูรณ์  เป็นการฟ้อนรำประกอบการขับกาพย์เซิ้งเพื่อประกอบในพิธีการทำบุญหลวงหรือบุญบั้งไฟ   เพื่อขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล    ในพิธีกรรมนี้จะมีการจุดบั้งไฟถวายเจ้าพ่อผาแดง   ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่ที่ผาแดง   เพื่อให้เจ้าพ่อดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล  พิธีกรรมขอฝนด้วยการจุดบั้งไฟนี้   จะกำหนดเวลาในช่วงระยะเดือนห้า หรือเดือนหกของทุกๆปี สาเหตุที่เรียกการแสดงชุดนี้ว่าฟ้อนแถบลานเพราะตัวเสื้อของผู้แสดง   จะนำใบลานย้อมสีเหลืองมาตัดและเย็บติดตามตัวเสื้อเป็นลวดลายที่สวยงาม  และเอกลักษณ์เฉพาะของชาวบ้านหล่มสัก  ฉะนั้น  คำว่า แขบลานจึงมาจากคำว่า แถบลานของตัวเสื้อของผู้ฟ้อน  ลักษณะวิธีการฟ้อนแขบลานคล้ายกับการแสดงเซิ้งบั้งไฟทางภาคอีสาน  แต่จะมีเอกลักษณ์ที่แปลกตาออกไป            
            ฟ้อนแขบลานจะมีมาแต่สมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด  แต่จะเป็นการฟ้อนที่มีอยู่ร่วมในขบวนการการบุญหลวง  หรือบุญบั้งไฟที่มีขึ้นต้นฤดูฝน  คือ  ตั้งแต่เดือน 6  ของไทยไปจนถึงเดือน 8 ก่อนเข้าพรรษา  สืบเนื่องมาจากอาชีพหลักส่วนใหญ่ของชาวบ้านอำเภอหล่มสักจะประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรกรรม  และอาศัยลักษณะดินฟ้าอากาศทางธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่  เมื่อจะเข้าสู่ฤดูการทำไร่  ทำนา  ชาวบ้านจะทำพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าพ่อผาแดง  ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า  การเลี้ยงปี  การเลี้ยงปีนี้จะทำพิธีที่ศาลเจ้าพ่อผาแดง  ซึ่งมีอยู่ประจำหมู่บ้าน  และแต่ละหมู่บ้านจะมีชื่อเรียกศาลแตกต่างกันออกไป  เช่น ตำบลบ้านติ้วเรียกศาลเจ้าพ่อมหศักดิ์  ตำบลบ้านหวายเรียกศาลเจ้าพ่อผาหล้า  ตำบลบ้านโสกเรียกศาลเจ้าพ่อสีชมพู  ตำบลนำดุกเรียกศาลเจ้าพ่อขุนด่าน  ตำบลปากช่องเรียกศาลเจ้าพ่อหมื่นด่าน  ศาลแต่ละหมู่บ้านเป็นศาลที่ชาวบ้านเชื่อว่ามีดวงวิญญาณเจ้าพ่อผาแดงสถิตอยู่  และชื่อที่ใช้เรียกศาลนั้นเป็นชื่อขององค์รักษ์ที่คอยปกป้องรักษาเจ้าพ่อผาแดง  ในการเลี้ยงปีนี้  กวนจ้ำจะเป็นผู้นำชาวบ้านในการทำพิธี  กวนจ้ำ  คือบุคคลที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ  เพราะเชื่อว่าสามารถติดต่อกับดวงวิญญาณของเจ้าพ่อผาแดง
             ก่อนวันที่จะมีการทำพิธีเลี้ยงปี  กวนจ้ำจะออกเรี่ยไรเงินชาวบ้านคนละ  5  บาท  10 บาท  หรือ  20  บาท  แล้วแต่ศรัทธา  นำเงินที่รวบรวมได้  ซื้อหมู  1  ตัว  เพื่อที่จะฆ่าทำพิธีเลี้ยงปี  เมื่อถึงวันเลี้ยงปี  ชาวบ้านจะนำหมูที่ซื้อมาไปที่ป่าช้าเก่าท้ายหมู่บ้าน  เพื่อนำไปฆ่าทำเป็นเครื่องสังเวยเจ้าพ่อผาแดง  และจะแบ่งเนื้อหมูให้ได้  500  ชิ้น  เอาไปห้อยแขวนไว้ตามกิ่งไม้  เพื่อสังเวยให้กับผีที่ไม่มีญาติ  เมื่อจัดเครื่องสังเวยเสร็จเรียบร้อยแล้ว  กวนจ้ำจะจัดขัน 5 ได้แก่  ดอกไม้ 5 คู่  เทียน 5 คู่ ธูป 5 คู่  เพื่ออันเชิญดวงวิญญาณเจ้าพ่อผาแดงให้มาประทับร่างทรงนางเทียม  นางเทียมคือ  ผู้หญิงที่เป็นร่างทรงของเจ้าพ่อผาแดงจะแต่งกายด้วยชุดผาแดง  โพกศีรษะด้วยผ้าสีแดง  ถือดาบเป็นอาวุธ  นอกจากร่างทรงเจ้าพ่อผาแดง  ยังมีร่างทรงเจ้าพ่อผาหล้า  เจ้าพ่อสีชมพู  เจ้าพ่อขุนด่าน  เจ้าพ่อหมื่นด่าน  ซึ่งเป็นองค์รักษ์ของเจ้าพ่อผาแดงลงประทับร่างทรงด้วย  การแต่งกายของเจ้าพ่อทั้ง  4  องค์  จะแตกต่างกัน  เจ้าพ่อผาหล้าจะแต่งชุดเขียว  โพกศรีษะสีแดง  เจ้าพ่อสีชมพูแต่งชุดสีชมพู  โพกศรีษะสีชมพู  เจ้าพ่อขุนด่าน  เจ้าพ่อหมื่นด่านจะแต่งชุดสีแดง  โพกศรีษะสีเหลือง  เมื่อเจ้าพ่อผาแดงและเจ้าพ่อองครักษ์ทั้ง  ประทับร่างทรงแล้ว  กวนจ้ำจะเชิญเจ้าพ่อมาที่ที่จัดเครื่องสังเวย  เพื่อให้เจ้าพ่อรับเครื่องสังเวย  ในการจัดเครื่องสังเวยได้ดีเป็นที่พอใจของเจ้าพ่อผาแดงและองครักษ์  บรรดาเจ้าพ่อจะแสดงกิริยาอาการที่ตรงกันข้ามกับมนุษย์  คือถ้าพอใจ  ดีใจ  จะร้องไห้ตีโพยตีพาย  แต่ถ้าไม่พอใจในเครื่องสังเวย  จะหัวเราะเห็นเป็นเรื่องตลกขบขัน  และการพูดจาก็จะตรงกันข้ามกับความหมายจริง  เช่น  เจ้าพ่อผาแดงพูดว่าปีนี้นำจะอุดมสมบูรณ์  ความหมายก็คือ  ปีนี้จะแห้งแล้งไม่มีน้ำทำนา  อย่างนี้เป็นต้น  เมื่อเจ้าพ่อรับเครื่องสังเวยแล้วจะทำการเสี่ยงเรือที่สระน้ำในป่าช้า  เพื่อทำนายดินฟ้าอากาศ  ลักษณะของเรื่องที่ใช้เสี่ยงทายนี้  จะใช้กาบกล้วยตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมยาวประมาณ  1 ศอก  ตรงกลางจะปักธูป  เทียน  ดอกไม้  ถ้าเรือที่เสี่ยงจมน้ำแสดงว่าจะแห้งแล้ง  เจ้าพ่อผาแดงเจ้าพ่อผาแดงจะสั่งให้มีการแห่บั้งไฟจุดถวาย  เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล  แต่ถ้าเรือที่เสี่ยงทายลอยตามน้ำหมายความว่า  พืชพรรณธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์  ก็จะเว้นไม่มีการแห่บั้งไฟ  เมื่อทำนายทายทักเสร็จแล้วร่างทรงเจ้าพ่อจะพากันร้องรำทำเพลงเป็นที่สนุกสนาน  เป็นอันเสร็จพิธีการเลี้ยงปี
            จากการทำนายของเจ้าพ่อผาแดงที่ท่านได้ทำนายว่าปีนี้  ดินฟ้าอากาศจะแห้งแล้งไม่อุดมสมบูรณ์  ชาวบ้านก็จะทำพิธีแห่บั้งไฟถวายเพื่อให้เจ้าพ่อผาแดงบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล  ในการแห่บั้งไฟจะใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการจัดงาน  โดยชาวบ้านจะนำบั้งไฟมาแห่รอบโบสถ์  และในขบวนแห่นี้จะมีการแสดงของชาวบ้านที่มาร่วมในงาน  เช่น  ขบวนการฟ้อนแขบลาน  ขบวนตัวตลกแต่งตัวเขียนหน้าทาปากแดง  ขบวนเซิ้งกาพย์  สำหรับเซิ้งกาพย์นั้น  เป็นภาษาถิ่น  คำที่ร้องจะสัมผัสคล้องจองกัน  และเป็นการร้องที่สนุกสนานใช้ประกอบในการฟ้อนแขบลาน
ลักษณะการแต่งกาย
         การแต่งกายในสมัยก่อน  ผู้ชายแต่งตัวเป็นผู้หญิงเหมือนกันหมด  เนื่องจากในสมัยก่อนถือว่าผู้หญิงต้องเป็นแม่บ้านอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน  ผู้ชายจะเป็นฝ่ายแสดงออก  จึงผู้ชายแสดงล้วน  ปัจจุบันนี้จะผู้หญิงแสดง  แต่จะมีบางหมู่บ้านที่ยังใช้ผู้ชายแสดง  เช่น  บ้านน้ำดุก  ที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์เดิมเอาไว้
เครื่องแต่งกายฟ้อนแขบลานมีดังนี้
1.  ซิ่นมุก  เป็นผ้าพื้นสีแดง  ทอลายมุกด้วยสีต่าง ๆ กันบนผืนผ้า  มีลายขวางที่ชายข้างล่างผ้าซิ่นจะเป็นสีแดง
2.  เสื้อแขนยาวสีดำ  ตกแต่งลวดลายด้วยใบลาน  โดยนำใบลานอ่อน ๆ ไปตากให้แห้งเอาไปย้อมสีเหลืองสด  แล้วนำมาตัดทำลวดลายเย็บติดกับตัวเสื้อ
3.  ผ้าโพกสีแดง
4.  เล็บมือสำหรับสวมนิ้วมือ  ทำด้วยไม้ไผ่หรือไม้รวกที่สานจากเส้นตอก  ทำให้เป็นกรวยสำหรับใช้สวมนิ้วมือเข้าไป  ตรงปลายไม้ที่เป็นเล็บจะใช้พรมสีแดงทำเป็นพู่
  โอกาสในการแสดง
             การฟ้อนแขบลาน  ตามที่กล่าวมาแล้วคือ  เป็นการฟ้อนรำในขบวนแห่บั้งไฟ  เพื่อบวงสรวงดวงวิญญาณเจ้าพ่อผาแดง  เมื่อถึงวันทำพิธีแห่บั้งไฟชาวบ้านจะมาชุมนุมกันที่วัด  พอได้เวลาทำพิธี  กวนจ้ำจะอัญเชิญดวงวิญญาณเจ้าพ่อผาหล้า  เจ้าพ่อสีชมพู  เจ้าพ่อขุนด่าน  เจ้าพ่อหมื่นด่าน  ประทับร่างทรงนางเทียม  ต่อจากนั้นบรรดาเจ้าพ่อจะนำขบวนแห่บั้งไฟเดินวนรอบพระอุโบสถ  รอบ  ในขณะที่เดินแห่นี้จะมีการฟ้อนแขบลานตามหลังขบวนเจ้าพ่อ  การฟ้อนแขบลานนี้อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นการแสดงความสนุกสนานของเหล่าบรรดาทหารที่ติดตามเจ้าพ่อผาแดงมาในขบวนแห่บั้งไฟสมัยก่อน  ในการแห่บั้งไฟนี้จะมีการตีกลองในจังหวะที่เร้าใจ  ทำให้เหล่าบรรดาทหารรู้สึกครึกครื้นสนุกสนาน  จึงทำท่าขยับแขน-ขยับขา  ให้เข้ากับจังหวะกลอง  ต่อมาจึงกลายเป็นประเพณีที่ชาวบ้านนิยมแสดงสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้
เหตุที่ใช้ฟ้อนแขบลานประกอบการแห่บั้งไฟ  อาจสันนิษฐานได้  สาเหตุคือ
1.  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงนิพนธ์ในหนังสือนิทานประวัติศาสตร์โบราณคดี  ตอนไปเมืองเพชรบูรณ์  มีข้อความว่า  ระหว่างเพชรบูรณ์กับหล่มสัก  มีต้นลานขึ้นอยู่เป็นหมู่ใหญ่  บางแห่งจะมีต้นลานขึ้นล้วน  จะหาต้นไม้อื่นแซมไม่ได้เลย  ต้นลานที่เพชรบูรณ์มีลำต้นสูงใหญ่  ชูสล้าง  ใบยาวราว  60  ศอก  มีอายุนับตั้งแต่ร้อยปีทั้งนั้น  ท่านผู้รู้บางท่านบอกว่า  ต้นลานมีอายุยืนถึง  150  ปี  เพชรบูรณ์เป็นที่ๆมีต้นลานมากกว่าจังหวัดอื่น  ใบลานที่นำมาจารึกเป็นคัมภีร์พระธรรมก็ว่านำไปจากเมืองนี้โดยมาก
2.  การที่ใช้ฟ้อนแขบลานมาประกอบการแห่บั้งไฟ  เพราะลักษณะท่าฟ้อนบางท่าเหมือนกับท่ารำดาบของทหารโบราณ  เช่น  ท่าเกี้ยวเกล้า  ซึ่งได้กล่าวไว้ในโคลงนิราศหริภุญชัยมีข้อความว่า
                                         สูญญารามหนึ่งนั้น                            ปูนเล็ง
                                มีรูปทั้งเม็ง                                                   ม่านเงี้ยว
                                ถือดาบกับเกง                                              สกับแก่น  คมแฮ
                                เชิงชาติฟันเกล้าเกี้ยว                                   แกว่นสู้สงคราม
             จากโคลงข้างต้นจะเห็นว่า  ในสมัยก่อนทหารใช้ดาบเป็นอาวุธในการทำศึกสงครามและการแต่งตัวของฟ้อนแขบลานคล้ายกับชุดทหาร  เช่น  ลักษณะการใช้ผ้าโพกศรีษะ  จะใช้ผ้าพันรอบศรีษะ  และมีผ้าห้อยลงมาปิดหูทั้งสองข้าง  คล้ายกับหมวกหูกระต่ายของทหาร  และลักษณะขบวนแห่บั้งไฟที่มีร่างทรงนำขบวนฟ้อนแขบลาน  จะคล้ายกับขบวนการเสด็จ ของกษัตริย์ในสมัยก่อน  ที่จะต้องมีทหารติดตามขบวนเพื่อแสดงความเกรียงไกรยิ่งใหญ่  และเสริมบุญบารมีของกษัตริย์ในอดีต  ต่อมาจึงได้วิวัฒนาการขึ้นจากที่เคยใช้ดาบก็เปลี่ยนเป็นใช้เล็บแทน  และที่เคยแสดงท่าทางประกอบจังหวะกลองเพียงอย่างเดียว  ก็มีการนำบทร้องมาแทรกประกอบการแสดง  และยังปรับปรุงท่ารำให้ดูเป็นการฟ้อนที่มีลักษณะเด่นเฉพาะตัวยิ่งขึ้น
          เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง
1.  กลองปั้งหรือกลองใบใหญ่  ใบ  เมื่อเวลาออกแสดงจะมีคนหาม  คน  คนตี  คน  ซึ่งเป็นกลองที่ใช้ภายในวัด  เป็นกลองที่ทางวัดใช้ตีบอกเวลาตอนเพล  ลักษณะของเสียงกลองที่ตีจะดัง    ตึง...ตึง...ตึง...ตึง...ตึง...ตึง...ตึง...ตึ่ง...ตึ้ง...ตึ่ง...ตึง
2.  ฉาบ  เป็นเครื่องตีอีกชนิดหนึ่งที่ทำด้วยโลหะรูปร่างคล้ายฉิ่ง  แต่หล่อบางกว่าฉิ่ง  มีขนาดใหญ่กว่าและกว้างกว่าฉิ่ง  ตอนกลางมีปุ่มกลมทำให้กระพุ้งขนาดวางลงในอุ้งมือ  นิ้ว  ขอบนอกแบราบออกไปโดรรอบและเจาะรูตรงกลางกระพุ้งไว้ร้อยเชือกหรือเส้นหนังสำหรับถือ  ต่อมาได้ทำขึ้นเป็น  2  ขนาด  ขนาดเล็กเรียกว่า  “ฉาบเล็ก”  ขนาดใหญ่เรียกว่า  “ฉาบใหญ่”
3.  ฆ้อง  เป็นเครื่องดนตรีที่ทำด้วยโลหะเช่นเดียวกับฉาบ  รูปร่างคล้ายฉาบ  คือ  มีปุ่มตรงกลางและฐานแผ่ออกมาโดยรอบ  ที่ต่างกับฉาบก็คือ  หล่อโลหะหนากว่าฉาบและหักงุ้มออกไปเป็นขอบคนละด้านกับปุ่มที่โป่งออกมา  ขอบที่หักงุ้มออกมานั้นเรียกว่า  “ฉัตร”  และที่ขอบหรือฉัตรนั้นจะเจาะรู  รู  ไว้สำหรับร้อยเชือกหรือหนังเพื่อใช้ถือ  และมีไม้ตีต่างหาก 

    บทร้องและทำนองเพลง
              บทร้องที่ใช้ประกอบการแสดงฟ้อนแขบลานนี้  เป็นการผูกถ้อยคำให้มีเสียงสอดคล้องกัน  เพื่อให้เกิดความไพเราะรื่นหู  โดยความหมายของคำที่นำมากล่าว  เป็นบทร้องที่เน้นถ้อยคำที่ชวนตลกขบขัน  สำหรับบทร้องนี้  สามารถจะเปลี่ยนให้เหมาะสมกับโอกาส  และลักษณะของเทศกาลที่จะแสดงฟ้อนแขบลานได้ตามความต้องการ
               ประโยชน์และคุณค่าของการฟ้อนแขบลาน
               คุณค่าทางด้านร่างกาย (Physical Value
               การฟ้อนรำเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง  เพราะการฟ้อนรำเป็นกิจกรรมของการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย  เช่น  ลำตัว  แขน  ขา  และมือ ให้ประสานเข้ากับจังหวะดนตรี   การฝึกหัดการฟ้อนรำจึงช่วยการปรับปรุงทักษะของการเคลื่อนไหว  การทรงตัว  ทำให้ได้ออกกำลังกล้ามเนื้อ   และถ้าฝึกหัดจนเกิดความชำนาญแล้วก็สามารถควบคุมอวัยวะทุกส่วนให้ประสานงานกันอย่างกลมกลืน   ซึ่งหมายถึงการฟ้อนได้อย่างสวยงาม
               คุณค่าทางสังคม (Social Values)
               การฟ้อนเป็นกิจกรรมร่วมกันของชุมชน  การได้ร่วมกันฟ้อนเช่นในงานบุญต่างๆ จะก่อให้เกิดความเป็นมิตร  ซึ่งส่งผลให้เกิดความสงบสุขในชุมชน
               คุณค่าทางวัฒนธรรม (Cultural Values)
               การฟ้อนรำเป็นมรดกทางวัฒนธรรม  เป็นเครื่องแสดงความเป็นอารยชาติ  ชาติใดไม่มีศิลปวัฒนธรรมเป็นของตนเอง   ชาตินั้นก็จะได้ชื่อว่าไม่มีความเจริญเป็นของตนเอง นอกจากนั้นศิลปวัฒนธรรมยังเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเกิดความภาคภูมิใจของชนในชาติ
                คุณค่าทางนันทนาการ (Recreational Values) 

                การฟ้อนรำจะทำให้ได้รับความสนุกสนาน  เพลิดเพลิน  ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของอารมณ์  หลังจากที่เหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน  ดังนั้นชาวอีสานจึงนิยมจัดให้มีการฟ้อนรำหรือการละเล่นเพื่อความสนุกสนานหลังจากการทำงานหรือในหลังฤดูการเก็บเกี่ยว
                 ความสำคัญของนาฎศิลป์  นอกจากจะมีคุณค่าทางด้านศิลปะและการแสดงถึงความเป็นอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองแล้ว  นาฎศิลป์ยังมีประโยชน์ต่อผู้ที่ได้ศึกษาเรียนรู้เพราะเป็นกิจกรรมที่สามารถเสริมสร้างผู้เรียนให้มีวินัยในตนเอง  รู้จักระเบียบในการแสดงออกร่วมกับผู้อื่น  มีสมาธิ  มีความพยายามอดทนในการฝึกซ้อม  มีความรับผิดชอบต่อผลงาน  รู้จักความไพเราะของเสียงเพลงและการแสดง  เสริมสร้างความรู้ความสามารถในการวิจารณ์และตัดสินได้อย่างมีเหตุผล  ช่วยให้ใช้เวลาว่างในทางที่เป็นประโยชน์  ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และจินตนาการที่สำคัญคือ  ช่วยให้เด็กได้รู้คุณค่าของดนตรีและนาฎศิลป์  รู้คุณค่าของศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ  เข้าใจศิลปะของชาติอื่นๆ  (อรวรรณ  บรรจงศิลป์  และ  อาภรณ์  มนตรีศาสตร์, 2527, หน้า 460-461)  และช่วยกันสืบทอดและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ต่อไป               
                ปัจจุบันพบว่าในการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมไทย  นาฎศิลป์พื้นบ้านได้รับความสนใจและความนิยมจากคนรุ่นใหม่น้อยมาก  ทั้งนี้เป็นผลมาจากกระแสของความนิยมและรับเอาวัฒนธรรมของต่างชาติเข้ามาเผยแพร่  บทบาทหน้าที่ของนาฎศิลป์พื้นบ้านของไทยก็ถูกแทนที่ด้วยนาฎศิลป์สากลสมัยใหม่  นาฎศิลป์พื้นบ้านของประเทศไทยกำลังประสบปัญหาและกำลังจะสูญหายไป  เนื่องจากไม่ได้มีการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมของท้องถิ่น  ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนการสอนและอนุรักษ์นาฎศิลป์พื้นบ้านให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจ  และตระหนักถึงคุณค่าของนาฎศิลป์พื้นบ้าน  ให้มีความรัก ชื่นชม  ซาบซึ้ง  หวงแหน  ตลอดจนช่วยกันอนุรักษ์สืบทอดนาฎศิลป์พื้นบ้านของตนเองเพื่อเป็นการจรรโลงนาฏศิลป์ท้องถิ่นให้ดำรงอยู่คู่แผ่นดินไทยสืบต่อไป

ข้อมูลอ้างอิง
เรณู  โกศินานนท์.  (2527).  รำไทย.  กรุงเทพฯ : คุรุสภา.
วรสรวง  สุทธิสวรรค์. (2541). ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกิจกรรมนาฏศิลป์ ของ  
                นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการสอนซ่อมเสริม 2  รูปแบบ  
                วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต  บัณฑิตวิทยาลัย  
                มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
อรวรรณ  บรรจงศิลป์ และ อาภรณ์  มนตรีศาสตร์. (2527). หลักการสอนดนตรี
                นาฏศิลป์.  เอกสารการสอนชุดวิชา  การสอนกลุ่มสร้างเสริมลักษณะ
                นิสัย  เล่มที่ 2 หน่วยที่ 8 สาขาศึกษาศาสตร์. กรุงเทพ ฯ : มหาวิทยาลัย
      สุโขทัยธรรมมาธิราช.

6 ความคิดเห็น:

  1. ทักทาย
    ไล่ดูบทความก่อน ทำไม่มีตัวเล็กตัวใหญ่ปะปนกันไปละ ปรับหน่อยนะครับ บทความยังไม่จบใช่หรือเปล่า เพราะยังไม่เห็นบทสรุป บางช่วงผู้เขียนบทความจะเว้น ย่อหน้าหรือข้อความจะติดต่อกัน ควรใส่อ้างอิงที่สมบูรณ์ในท้ายบทความอีดนิด จะดีมาก
    ขอบคุณที่เอาเรื่องดีๆมาให้อ่าน

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณสำหรับคำติชมนะครับ เป็นประโยชน์สำหรับผู้เขียนมาก ผู้เขียนลืมตรวจทานก่อนที่จะเผยแพร่ แล้วจะนำไปปรับใช้นะครับ

    ตอบลบ
  3. อยากจะขอถามว่าสำหรับคำว่าแขบลานนั้นมีความหมายเดียวกันกับ แถบลานซึ่งเป็นการแสดงของภาคอีสานซึ่งอาจเป็นรากจากวัฒนธรรมเดียวกันหรือไม่ ซึ่งอยากให้มีเนื้อหาที่เพิ่มในส่วยความหมายและที่มาของคำว่าแขบลานและแถบลานดังที่กล่าวมาขั้นต้น เพราะคิดว่าถ้าเพิ่มเนื้อหาในส่วนนี้จะเป็นบทความที่มีความสมบูรณืมากขึ้น นะพี่หนุ่ยจากอดีตเด็ก วนศ. ชม.

    ตอบลบ
  4. ขอบคุณสำหรับคอมเมนต์นะครับ ผู้เขียนได้เพิ่มเติมรายละเอียดของความหมายคำว่าแขบลาน หรือแถบลานเรียบร้อยแล้วนะครับ หากมีคำแนะนำอื่นๆอีก บอกผู้เขียนให้ทราบด้วยนะครับ เพื่อความสมบูรณ์ของบทความยิ่งขึ้น

    ตอบลบ
  5. เป็นบทความที่ดีนะค่ะไม่เคยรู้มาก่อนในการฟ้อนแขบลาน ควรจะมีการสรุปใจความสำคัญให้กระชับมากยิ่งขึ้นและควรสรุปความคิดเห็นของผู้เขียนบทความมากขึ้นเพราะจะทำให้บทความดูน่าอ่านมากยิ่งขึ้น

    ตอบลบ
  6. ขอเพิ่มเติมนะค่ะ บทร้องที่ใช้ประกอบการแสดงฟ้อน
    แขบลานนี้คือการร้องเซิ้งกาพย์

    จากkrumali

    ตอบลบ